บนพื้นที่แผ่นดินเกือบใต้สุดแดนสยาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักถูกมองและกล่าวขาน ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ความคิด ขัดแย้ง แตกต่าง ทางเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม นำมาซึ่งความไม่เข้าใจกัน มีความพยายามที่จะแก้ปัญหา หาทางออกด้วยมิติทางการเมืองการปกครอง จนอาจมองข้ามมิติความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการหลักประกันความมั่นคงของชีวิต ความสงบสุข และได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทรงเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่า รักษาต้นน้ำ เพื่อเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ และไม่มีรายได้ ทรงพระราชทานโครงการศิลปาชีพ เพื่อให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้จุนเจือครอบครัว และมีพระราชดำริกับนายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ(ในขณะนั้น) ประสานงานกับทาง จ.นราธิวาส จัดหาพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อเป็นแหล่งจ้างงานแก่ราษฎรที่ไม่มีงานทำ เกษตรกรที่ยากไร้ขาดความเข้าใจด้านเกษตร และเกษตรกรที่ว่างงาน เพื่อรับเข้าทำงานในฟาร์มตัวอย่างฯ รับคนงานให้ได้มากที่สุด โดยทรงรับสั่งกับผู้ถวายงานใกล้ชิดในขณะนั้นว่า "ขาดทุนของฉัน คือ กำไรแผ่นดิน"
ในปี 2543 จ.นราธิวาส จึงได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประสานขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์บางส่วนของโคกปาฆาบือซา บ.จาเราะสโตร์ ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส จำนวน 205 ไร่ และพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 14.5 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการ ในปีถัดมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2544 มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้ทดลองเลี้ยงนกกระจาบ และขอใช้พื้นที่ติดกับด้านทิศเหนือของพื้นที่เดิมอีก 100 ไร่ เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเน้นการปลูกพืชเป็นหลัก รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 319.5 ไร่
จากคำบอกเล่าของผู้ถวายงานเล่าว่า การจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างฯ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นแหล่งจ้างงานแก่ราษฎร ด้วยทรงห่วงใยราษฎร ที่ไม่มีงานทำ ต้องการให้ราษฎรมีรายได้ ดูแครอบครัว ส่งเสียลูกหลานเรียนหนังสือได้ ปัจจุบันมีคนงานอยู่ จำนวน 100 คน ค่าแรงวันละ 150 บาท ทำงาน เวลา 08.00-16.30 น.ทุกวัน นอกจากนี้ ฟาร์มตัวอย่างฯโคกปาฆาบือซา ยังเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียน ใช้หลักการที่ว่า "เรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติ" Learning by doing เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ ประสบการณ์ สามารถนำความรู้ที่ได้จากการทำการเกษตรกลับไปทำที่บ้านได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษของ จ.นราธิวาส เป็นแหล่งทัศนศึกษา ดูงานและท่องเที่ยว และอีกส่วนได้รับการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ฝึกจิตอาสา กองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไป
ฟาร์มตัวอย่างฯแห่งนี้ จึงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ อาทิ การปลูกพืชเศรษฐกิจ งานพืชผัก งานไม้ดอก งานไม้ผล พืชผักที่ปลูกได้แก่ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักกาดกวางตุ้ง ผักบุ้ง มะเขือต่างๆ ถั่วผักยาว ถั่วพู และแตงกวา งานไม้ดอก เช่น ดอกมะลิ งานไม้ผล เช่น มะละกอเรดเลดี้ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อ รสชาติหวาน กรอบ อร่อย มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่มะเหมี่ยว และแคนตาลูป นอกจากนี้ยังมีงานเพาะเห็ด ปศุสัตว์ ประมง สวนป่าสัตว์ป่า และงานแปรูปผลผลิตที่น่าสนใจอีกหลายรายการ
ผลผลิตจากฟาร์มตัวอย่างฯ คือ ความมั่นคงทางอาหาร ส่งตลาดหลักภายใน จ.นราธิวาส ส่งถึงผู้บริโภคได้รับประทาน วัตถุดิบสำคัญเพื่อนำมาปรุงประกอบอาหารแก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และตลาดหน้าธนาคารกรุงไทย สาขานราธิวาส ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ ที่สำคัญผลผลิตจากฟาร์มตัวอย่างฯ ยังถูกส่งไปยังห้องเครื่องในวัง ได้ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยสม่ำเสมอ
สมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ ตลอดจนคนงาน ผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ และผู้ถวายงานใกล้ชิด ยังคงน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซาบซึ้งในน้ำพระทัย และพระเมตตาของพระองค์ท่าน เปรียบดังฝนจากฟ้า ช่วยดับร้อน คลายทุกข์ยากลำบากเแก่ราษฎร นำความชุ่มฉ่ำเย็นมาสู่แผ่นดินใต้ ได้พลิกฟื้นกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ และยั่งยืน บนฐานเกษตรแห่งความพอ เพียง เพื่อแผ่นดินนี้มั่นคง สงบสุข
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
เรียบเรียง
ขอบคุณภาพ/ข้อมูลประกอบ
ฟาร์มตัวอย่างฯ โคกปาฆาบือซา
ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส