นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส
นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แนวโน้มของสถานการณ์ยังไม่ยุติ การปฏิบัติตัวของให้จริงจังตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และแนวทางประกาศของจุฬาราชมนตรี วันนี้กลไกสำคัญในการทำงานระดับพื้นที่ คือ อสม. มีความสำคัญมาก ใกล้ชิดกับประชาชน ทำงานเต็มที่ จากการติดตามการทำงานมีการตรวจมัสยิดต่างๆให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามหลักการด้านสาธารณสุข สถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกที่สามนี้คิดว่า ควรต้องให้กำลังใจคนทำงานให้มาก เพราะทำงานหนักมากกว่าการระบาดในช่วงที่ผ่านมา
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด พูดกันมากต้องให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันโรค เท่าที่ติดตามตอนนี้ ประชาชนอยากฉีดวัคซีน แต่ว่า "ไม่มีวัคซีนจะฉีด" "วัคซีนไม่มา" และอีกกรณี ชาวบ้านอยากจะฉีดแอสตร้าเซนเนก้า แต่ไม่มี หรือมีอีกยี่ห้อหนึ่ง เกิดความขัดแย้งความต้องการ สิ่งเหล่านี้ เราต้องมาคุยกันเพื่อการบริหารจัดการที่ลงตัว และเพิ่มการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ รับทราบให้มาก
"ประเมินได้ว่าในพื้นที่ ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องวัคซีนมากพอสมควร บาบอให้คะแนนเต็ม 8 จาก 10 เพราะดูจากที่ประชาชนต้องการจะฉีด แต่ปัญหาที่ทราบว่า วัคซีนจัดสรรทยอยมา การสื่อสารต้องให้ประชาชนทราบว่า วัคซีนจะมาตอนไหน ประชาชนจะได้เมื่อไหร่ ต้องสื่อสารให้ชัดเจน" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวและว่า
"วัคซีน ฮาลาล หรือ ไม่" คิดว่าประเด็นนี้ค่อนข้างจะชัดเจนแล้ว และคลายความกังวลใจไปมาก เราดูตัวอย่างผู้นำสูงสุดของเรา ท่านจุฬาราชมนตรี ท่านให้ฉีดเอง ท่านฉีดแล้ว ให้ประชาชนมั่นใจ เราต้องตามแบบอย่างท่านจุฬาราชมนตรี
ที่ผ่านมีการปล่อยข่าว เป็นแค่ข่าวลือ การทำงานต้องเน้นการสื่อสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ ความถูกต้อง ประโยชน์ต่างๆของวัคซีน บาบอชื่นชม อสม. เขาทำงานได้ดี ทำงานหนักกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจความจำเป็นในการฉีดวัคซีน วันนี้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้นแล้วประเด็น "วัคซีน กับ ฮาลาล"
แนวทางการทำงานในพื้นที่ ขอให้ร่วมมือกัน ทั้งภาคราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ผู้นำศาสนา บุคลากรแพทย์พยาบาล เครือข่ายด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ให้ยึดถือ ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับเป็นที่ตั้ง หากมีเรื่องประโยชน์ส่วนตัวเข้ามา ทุกอย่างก็จะพัง
"การให้กำลังใจกันเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะกับคนทำงาน ต้องมีให้กับตนเอง และให้คนอื่น เพื่อช่วยให้เขามีกำลังใจ รู้หลักการดูแลตนเองที่ถูกต้อง บาบอให้กำลังใจอสม.ในหมู่บ้าน เขาต้องเจอคนหลากหลาย หลายปัญหา บางคนร้องไห้ บางคนคิดจะฆ่าตัวตาย นักสื่อสารต้องมีหลักศาสนาให้เขาด้วย ให้เขาได้มีพึ่งทางใจ มีทางออกของชีวิต มีศรัทธาที่แท้จริง ดูแลรักษาชีวิตให้รอดปลอดภัยจากโควิด" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวในที่สุด
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
เรียบเรียง
ขอบคุณภาพ:
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส